วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ป่าชายเลนมีบทบาทสำคัญ ที่เป็นส่วนเชื่อมของระบบนิเวศบนบก และระบบนิเวศทางทะเล โดยป่าชายเลนทำหน้าที่หลักที่สำคัญสองประการ ในส่วนที่ควบคุมปฏิสัมพันธ์ภายใต้กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทะเล ในแม่น้ำ และบนบก คือ
1. ป่าชายเลนทำหน้าที่ในการดักตะกอน ที่ถูกพัดพามากับน้ำจืด ในการถูกพัดพาออกสู่ทะเลให้น้อยลง ช่วยลดผลกระทบต่อการสังเคราะห์แสงของพืช และผลผลิตทางการประมง
2. ป่าชายเลนทำหน้าที่ในการส่งถ่ายธาตุอาหารและอินทรีย์สารจากบริเวณป่าชายเลน ออกสู่น้ำทะเลชายฝั่งบริเวณใกล้เคียง เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่บริเวณชายฝั่งด้วย
การที่ป่าชายเลนขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำต่างๆ ช่วยลดความเร่งของกระแสน้ำทำให้มีตะกอนทับถมในลักษณะของแผ่นดินงอก อาจกล่าวได้ว่า ป่าลายเลนช่วยเพิ่มพื้นที่ (land builder) พร้อมกันนี้ป่าชายเลนยังทำหน้าที่ดักกรองสารมลพิษ และสารปฏิกูลต่างๆ จากบนบก ไม่ให้ลงสู่ทะเล (pollution trap) ป่าชายเลนยังทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันคลื่นลมจากทะเล ช่วยลดความรุนแรงของพายุได้อีกด้วย
คุณค่าของป่าชายเลน นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์จากไม้ชายเลนเพื่อการเผาถ่าน และการใช้ประโยชน์ในรูปอื่นๆ ที่สำคัญคือ ป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์หลายชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และปลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งวางไข่ และอนุบาลตัวอ่อน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริเวณป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชและสัตว์นานาชนิด คือ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร มีการแบ่งสรรสารอาหารและพลังงานที่ลงตัวในกลุ่มพืชและสัตว์ บริเวณป่าชายเลนมีความหลากหลายในรูปของแหล่งที่อยู่อาศัยทำให้สัตว์ต้องมีการปรับตัวเฉพาะเพื่ออยู่อาศัย หรือเพื่อหาอาหารได้ร่วมกันโดยไม่แก่งแย่งกัน ถ้าความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนยังคงสภาพอยู่ ก็ย่อมส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำด้วย
การศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน จะต้องศึกษาในรายละเอียดของชนิดพรรณไม้ การแพร่กระจาย การแบ่งเขต (zonation) ลักษณะทางกายภาพของดิน สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ดิน คุณภาพของน้ำทะเล สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในมวลน้ำ รูปแบบของนำขึ้น-น้ำลง ตลอดจนกระบวนการทางนิเวศวิทยาที่เกี่ยวข้อง เช่น การหมุนเวียนของธาตุอาหาร การย่อยสลายสารอินทรีย์ การอพยพของสัตว์น้ำ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น