วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบบนิเวศป่าพรุ

ป่าพรุ (Swamp forest) เป็นลักษณะหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำ ขึ้นอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขังตลอดปีดินส่วนใหญ่ เป็นดินอินทรีย์ วัตถุที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ รับน้ำจากน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ มีการระบายน้ำตามธรรมชาติอย่าง ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
สภาพแวดล้อมในระบบนิเวศป่าพรุ
ลักษณะดินในป่าพรุ1. ดินในป่าพรุ
ดินที่พบในป่าพรุส่วนใหญ่เป็นดินอินทรีย ์ที่เกิดจากการทับถมของซากพืชที่ร่วงหล่นลงมาและยังไม่สลายตัว เนื่องจากพื้นที่พรุส่วนใหญ่มีน้ำท่วมขังทำให้การย่อยสลายเป็นไปอย่างช้าๆ ความหนาของชั้นดินมีความหนาแตกต่างกัน ขึ้นกับระยะเวลาการสะสมของชั้นอินทรียวัตถุ และปัจจัยเสี่ยงที่จะถูกทำลาย เช่น ไฟป่า เป็นต้น หากชั้นดินอินทรีย์นี้ถูกเผาทำลายโดยไฟป่าอย่างซ้ำซาก ชั้นดินอินทรีย์ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีจะถูกเผาไหม้จนหมดไป เหลือเฉพาะดินชั้นล่างที่เป็นชั้นดินโคลน ซึ่งมีสารไพไรต์ (FeS2) เมื่อเปิดหน้าดินอินทรีย์ออก ทำให้ออกซิเจนมีโอกาสทำปฏิกิริยาออกซิเดชัน กับสารไพไรต์ให้สารประกอบซัลเฟต และกรดกำมะถัน ซึ่งเมื่อถูกชะล้าง ทำให้ดินในจุดนั้นจะกลายเป็นดินกรดกำมะถัน (acid sulphate soil) ซึ่งเป็นดินกรดที่ไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร
ในประเทศไทย พบว่า ชั้นของดินอินทรีย์มีความหนาสูงสุดเพียง 3.8 เมตร สมบัติของดินอินทรีย์ในป่าพรุพบว่าเป็นดินที่มีความหนาแน่นรวมต่ำมาก คือ มีค่าอยู่ระหว่าง 0.1-0.2 กรัม/มิลลิลิตร ซึ่งดินทั่วไปมีค่าอยู่ระหว่าง 1.3-1.6 กรัม/มิลลิลิตร ดังนั้นพรุจึงเป็นดินที่ไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม สีของดินพรุมีสีแตกต่างกันตามชั้นของความลึก คือ มีสีน้ำตาลเข้ม ถึงดำเป็นดินที่มีความเป็นกรดจัด คือ มีค่าความเป็นกรด-เป็นด่าง (pH) ประมาณ 4.4 ในดินชั้นบน และ 4.2 ในดินชั้นล่าง
2. น้ำในป่าพรุ
น้ำในป่าพรุมีสมบัติทางกายภาพและเคมีแตกต่างไปจากน้ำจืดในแหล่งน้ำอื่นทั่วไป เนื่องจากภูมิประเทศของพรุ เป็นที่ลุ่มต่ำใกล้ชายฝั่งทะเล จึงทำให้มีน้ำท่วมขังพื้นดินตลอดปีหรือเกือบตลอดปี น้ำที่ท่วมขังจะมีการไหลอย่างช้าๆ สีของน้ำพรุเป็นสีน้ำตาลซึ่งเป็นน้ำฝาดที่ได้จากการสลายตัวของซากพืชและอินทรียวัตถุ
น้ำในป่าพรุนับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งที่กำหนดการอยู่รอดหรือการคงอยู่ของป่าพรุ เพราะอิทธิพลของน้ำทั้งในด้านปริมาณ คือ ระดับการท่วมขังของน้ำ และในแง่ของคุณภาพน้ำ มีผลอย่างมากต่อการอยู่รอด และการเจริญเติบโตของต้นไม้ เนื่องจากต้นไม้เป็นผู้ผลิตขั้นต้นของป่าพรุแห่งนี้ ดังนั้น การอยู่รอดของต้นไม้ย่อมส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในป่าพรุต่อไป กล่าวคือ ถ้าระดับการท่วมขังของน้ำอยู่สูงเกินกว่าระดับรากหายใจที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ย่อมมีผลต่อกระบวนการหายใจและการแลกเปลี่ยนก๊าซของพืช แต่ถ้าหากระดับน้ำอยู่ในระดับต่ำเกินไปจะทำให้ดินอินทรีย์แห้งเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ได้มีการดัดแปลงท่อพีวีซีเป็นเครื่องวัดระดับน้ำ ได้ทำการวัดนานต่อเนื่องกันมา 4 ปี พบว่า โดยทั่วไปแล้วระดับน้ำในป่าพรุท่วมขังอยู่เหนือผิวดินโดยเฉลี่ย 20-25 เซนติเมตร ยกเว้นบางเดือนที่ฝนตกหนักระดับน้ำที่ท่วมขังจะสูงขึ้น โดยจะสูงสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ส่วนในฤดูแล้งระดับน้ำในป่าพรุจะลดต่ำลง ระดับน้ำที่ลดลงต่ำกว่าผิวดินนี้จะเป็นดัชนีสำคัญใช้บ่งชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันและเตรียมพร้อมในการดับไฟป่า
สำหรับคุณภาพของน้ำในป่าพรุเสื่อมโทรมพบว่ามีความเข้มข้นของสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compound) สูงกว่าน้ำในป่าพรุดั้งเดิม สำหรับคุณสมบัติอื่นๆ ของน้ำในป่าพรุเสื่อมโทรม เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำในป่าพรุสมบูรณ์ พบว่าในป่าพรุเสื่อมโทรม มีอุณหภูมิ ความเป็นกรด และสภาพการนำไฟฟ้าสูงขึ้น มีเพียงปริมาณของออกซิเจนที่ละลายในน้ำเพิ่มขึ้นเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้คุณภาพของน้ำดีขึ้น การที่ปริมาณของออกซิเจนเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากน้ำในป่าพรุเสื่อมโทรมไหลแรงขึ้น จากการตรวจวัดค่า pH ของน้ำในป่าพรุพบว่าส่วนใหญ่มีค่าอยู่ระหว่าง 5.1-6.4 ดังนั้น น้ำในป่าพรุจึงสามารถนำมาใช้ในการกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์ได้
ระบบนิเวศป่าพรุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น